อินดิเคเตอร์ EMA ถูกจัดเป็นประเภทหนึ่งของ WMA แต่แตกต่างกันตรงที่ EMA ไม่เคยทิ้งน้ำหนักของข้อมูลในอดีต โดยที่มีการกำหนดน้ำหนักข้อมูลเก่าโดยใช้ค่า Multiplier โดยน้ำหนักของข้อมูลในอดีตจะถูกลดลงแบบเอ็กโพแนนเชียล
EMA เป็นอีกหนึ่ง Indicator ทางเทคนิคที่ เทรดเดอร์ นิยมใช้ในการเทรดมากที่สุด เพื่อการพยากรณ์ราคาประกอบการตัดสินใจซื้อและขาย โดยก่อนที่จะคำนวณได้ เราจะต้องทำการคำนวณ “ตัวคูณ หรือ Multiplier” เสียก่อน
Table of Contents
Toggleการคำนวณ EMA แบบคิดในกระดาษ
เช่นเดียวกันกับ WMA ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบเอ็กซ์โพเนนเชียล จะให้น้ำหนักกับข้อมูลล่าสุดมากกว่าข้อมูลที่ห่างออกไปในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ล้าหลังมากจะถูกกำหนดให้มีน้ำหนักที่น้อยลง
สูตรคำนวณ
EMAn = [{Pn – EMAn-1} x ตัวคูณ] + EMAn-1
หรือสามารถจัดรูปใหม่ได้เป็น
EMA = [Pn x ตัวคูณ] + [EMAn-1 (1 – ตัวคูณ)]
โดยที่
EMAn คือ ค่า Exponential Moving Average ของช่วงเวลาที่ต้องการ
Pn คือ ราคาปิด ณ ช่วงเวลาที่ต้องการ
EMAn-1 คือ ค่า Exponential Moving Average ของเวลาก่อนหน้า 1 period
ตัวคูณ คือ ค่าที่คำนวณจาก 2/(n+1)
n คือ ช่วงเวลาที่ใช้มาคำนวณ
ขั้นตอนการคำนวณ ตัวอย่างการคำนวณ EMA(5)
การคำนวณ EMA นั้นทำได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก แต่อาจจะมีขั้นตอนมากกว่า SMA สักหน่อย แต่สรุปได้สั้น ๆ ว่ามี 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
คำนวณ SMA
การคำนวณ EMAn-1ข้อมูลแรก อาจจะต้องคำนวณข้อมูลดังกล่าวมาจาก SMA ซึ่งเป็นการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตตามปกติของราคาปิดในช่วงเวลาที่สนใจ โดยนำผลรวมของราคาปิดมาหารด้วยจำนวน period
EMA n-1= SMAn-1= ผลรวมของราคาปิดในช่วงที่สนใจ/ n
ตัวอย่างข้อมูล พิจารณาราคาหุ้นตัวหนึ่ง พบว่ามีราคาปิดที่ 1, 2 , 3, 4,5 และ 6 ตามลำดับ จงคำนวณหา EMA(5)
EMA n-1
= SMAn-1
= ผลรวมของราคาปิดในช่วงที่สนใจ/ n = (1+2+3+4+5)/5 = 3
คำนวณค่าตัวคูณ
การคำนวณค่าของตัวคูณ สามารถเขียนในรูปสูตรทั่วไปดังนี้
ตัวคูณ = Smoothing Factor/(n+1)
ในกรณีทั่วไป Smoothing Factor = 2 เนื่องจากเป็นค่าที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับ SMA ดังนั้นจึงสามารถแทนค่าสูตรตัวคูณได้เป็น
ตัวคูณ = 2/(n+1)
ถ้าต้องการคำนวณ EMA(5) ดังนั้น n=5 ค่าของตัวคูณจะมีค่าเท่ากับ 2/(5+1) = 0.3333 นั้นคือมีการให้น้ำหนักข้อมูลปัจจุบัน 33.33% และมีการให้น้ำหนักกับข้อมูลในอดีต 66.67%
ทำการคำนวณ EMA
การคำนวณ EMAn ทำได้โดยการนำค่าต่าง ๆ ไปแทนลงในสูตรในสมการคำนวณ EMA โดยสามารถแทนค่าลงในสูตรใดก็ได้ จะได้ผลลัพธ์เท่ากัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างการโดยการแทนลงในสูตร
EMAn = [Pn x ตัวคูณ] + [EMAn-1 (1 – ตัวคูณ)]
ดังนั้น จาก ตัวอย่างข้อมูล พิจารณาราคาหุ้นตัวหนึ่ง พบว่ามีราคาปิดที่ 1, 2 , 3, 4,5 และ 6 ตามลำดับ จงคำนวณหา EMA(5)
จะได้ว่า Pn = 6, ตัวคูณ = 0.3333, EMAn-1 =
SMAn-1= 3
ผลลัพธ์ที่ได้คือ EMAn = [6 x 0.3333] + [3 (1 – 0.3333)]
= 2 + 2 = 4
โดยสรุปจากคำนวณในกระดาษจะพบว่า EMA(5) จากข้อมูลจะมีค่าเท่ากับ 4
การคำนวณ EMA ผ่าน EXCEL
จะเห็นได้ว่าการคำนวณ EMA นั้นมีการใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานเท่านั้น ทำให้เราสามารถใช้ EXCEL เพื่อช่วยคำนวณค่า EMA ได้ง่าย ๆ สำหรับตัวอย่างการคำนวณต่อไปนี้จะใช้ข้อมูลการคำนวณ และ ขั้นตอนการคำนวณ เช่นเดียวกันกับการคิดในกระดาษ
คำนวณ SMA โดยใช้ฟังก์ชัน AVERAGE
ฟังก์ชัน AVERAGE เป็นฟังก์ชันสำเร็จรูปที่ช่วยทำให้การหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราจะทำการใช้ฟังก์ชันนี้เพื่อช่วยในการคำนวณค่า SMA(5) โดยมีการใส่สูตรดังรูป
คำนวณค่าตัวคูณ
ทำการเลือก Cell ว่าง ๆ เพื่อคำนวณค่าตัวคูณ เพื่อเก็บไว้สำหรับการคำนวณ EMA ในขั้นตอนถัดไป โดยใส่สูตรเป็น 2/(n+1) ในที่นี้จะทำการระบุค่า period หรือค่า n ไว้ในอีก cell หนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยนในภายหลัง ค่า n ในกรณีนี้เท่ากับ 5
ทำการคำนวณ EMA
ในที่นี้จะทำการผูกสูตรเพื่อคำนวณค่า EMA โดยใช้สมการ โดยจะใช้เครื่องหมาย $..$ เพื่อเป็นการล็อคตำแหน่งของค่า Multiplier เพื่อไม่ให้เลื่อนเวลาลากสูตร
EMAn = [Pn x ตัวคูณ] + [EMAn-1 (1 – ตัวคูณ)]
เมื่อผูกสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้วทำการลากสูตรลงมา เราก็จะได้ค่า EMA(5) ของข้อมูลใน period ถัดไปตามลำดับ
ดาวโหลดไฟล์ EXCEL
สรุป
การคำนวณ EMA มีความคล้ายคลึงกับ WMA โดยที่จะให้ความสำคัญกับข้อมูลปัจจุบันมากที่สุด และให้ความสำคัญกับช่วงเวลาในอดีตลดความสำคัญลงมา โดยสามารถปรับความสำคัญของข้อมูลได้โดยใช้ ค่าตัวคูณ หรือ ค่า Multiplier
ความแตกต่างต่างประการหนึ่งของ EMA และ WMA ก็คือ EMA จะใช้ข้อมูลในอดีตทุกตัวมาคำนวณเป็นค่า EMA n-1 โดยที่ไม่สามารถให้น้ำหนักข้อมูลใดข้อมูลหนึ่งเป็นศูนย์ได้ ซึ่งแตกต่างกับ WMA ที่สามารถกำหนดน้ำหนักของข้อมูลในแต่ละจุดได้เองทำให้มีความยืดหยุ่นในการหาค่าที่เหมาะสมมากกว่า
การคำนวณ EMA ผ่าน EXCEL นั้นมีความตรงไปตรงมาโดยเริ่มจาก 1) คำนวณค่า SMA เพื่อแทนลงใน period แรก 2) คำนวณค่าตัวคูณ และ 3) ทำการผูกสูตรใน EXCEL
ค่า EMA ในช่วง Period แรก ๆ ที่คำนวณได้จะมีความเคลื่อนอยู่บ้าง เนื่องจาก การแทนค่า EMA n-1= SMAn-1 อาจจะไม่สมเหตุสมผลซะทีเดียว ดังนั้นจึงควรตัดข้อมูลของ EMA 4-5 period แรก ที่คำนวณได้ออกไป
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
น้ำมัน บทความยอดนิยม ประวัติเทรดเดอร์ พื้นฐาน technical analysis เทรดเดอร์มือใหม่ ์Indicator
*บทความนี้ไม่มีและไม่ควรถูกตีความว่า มีการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำเสนอสำหรับการทำธุรกรรมใดๆ ในเครื่องมือทางการเงินต่างๆ โปรดทราบว่าการวิเคราะห์การซื้อขายดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออนาคต เนื่องจากสภาวการณ์อาจมีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน