MACD คือ INDICATOR ที่พัฒนามาจาก MOVING AVERAGE
MACD (Moving Average Convergence Divergence อ่านว่า “Mac-Dee” หรือ “ M-A-C-D” ก็ได้) Indicator ตัวนี้เป็น Indicator ที่มีแนวคิดมาจากการวาด Moving Average ขึ้นพร้อมๆ กัน 2 เส้น แล้วนำมาวิเคราะห์ลักษณะที่เกิดขึ้นระหว่าง Moving Average ทั้ง 2 เส้น
จุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษของ MACD คือ เป็น Indicator ที่สามารถให้ข้อมูลได้ 2 มุมมองพร้อม ๆ กัน ได้แก่
1) ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น (Trend)
2) แรงส่งของราคาหุ้น (Momentum)
ด้วยจุดเด่นตรงนี้จึงทำให้ MACD เป็น Indicator ที่แม้ว่าจะถูกพัฒนาและใช้งานมานานแล้ว แต่ยังเป็น Indicator ที่ยอมรับและได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบันนี้
เนื่องจากบทความนี้เกี่ยวกับ MACD ซึ่งเป็น Indicator ที่ประยุกต์เอาลักษณะของเส้น Moving Average 2 เส้นมาวิเคราะห์ด้วยหลักการที่ซับซ้อนขึ้น ผู้อ่านคนไหนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการแปลความหมายจากกราฟเส้น Moving Average แนะนำให้ลองอ่านและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Moving Average ก่อนแล้วค่อยอ่านบทความนี้ตามทีหลัง เพราะจะทำให้สามารถทำความเข้าใจลักษณะของ MACD ได้ง่ายขึ้น
ที่มาของ MACD คือ ระยะห่างระหว่าง MOVING AVERAGE 2 เส้น
ผู้คิดค้น MACD คือ Gerald Appel ได้ประยุกต์เอาลักษณะของกราฟเส้น Moving Average ที่วาดขึ้นมา 2 เส้นพร้อม ๆ กันมาคำนวณเป็น Indicator ตัวใหม่คือ MACD จากชื่อของ MACD (Moving Average Convergence Divergence) ที่มีคำว่า “Convergence” ที่แปลว่า วิ่งเข้าหากันหรือลู่เข้าหากัน และคำว่า “Divergence” ทีแปลว่า ห่างออกจากกันหรือแยกออกจากกัน
การคำนวณค่า MACD จึงเป็นการวัดระยะห่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้น เพื่อดูว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 2 เส้นกำลังเคลื่อนที่ลู่เข้าหากันหรือแยกออกจากกัน (เส้นไหนอยู่บน เส้นไหนอยู่ล่าง อยู่ห่างกันมากไหม)
สูตรในการคำนวณ MACD แบบดั้งเดิมจะนำเอาค่าของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ Exponential ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลัง 12 วัน (EMA12) ลบกับ ค่าของเส้นค่าเฉลี่ยแบบ exponential ที่คำนวณจากข้อมูลราคาย้อนหลัง 26 วัน (EMA26)
วิธีแสดงค่า MACD
การวิเคราะห์ MACD จะคำนวณค่าของ MACD ออกมาจำนวนหลาย ๆ ค่าต่อเนื่องกัน และนำค่าเหล่านั้นมาวาดเป็นกราฟเส้นควบคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้น แต่จะวาดกราฟเส้นของค่า MACD บนพื้นที่ใหม่แยกออกมาจากกราฟราคาหุ้น และในพื้นที่ของกราฟเส้น MACD จะมีการลากเส้นแนวนอนของค่า MACD = 0 ไว้ด้วย (เส้นแนวนอนของค่า MACD = 0 เรียกว่า Center Line ที่จุดนี้ แปลว่า EMA12 มีค่าเท่ากับ EMA26 เพราะลบกันได้ 0)
MACD “เป็นบวก หรือ เป็นลบ”
ค่าของ MACD และลักษณะของกราฟเส้น MACD ที่วาดขึ้นสามารถอธิบายลักษณะของเส้น EMA(12) และ เส้น EMA(26) ได้ดังนี้คือ ดูว่าค่า MACD เป็นบวก (+), ลบ (-), หรือ ศูนย์(0)
1) ถ้า MACD มีค่าเป็นบวก แปลว่า EMA(12) มีค่ามากกว่า EMA(26) ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าเส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้น จะอยู่เหนือเส้น EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว
2) ถ้า MACD มีค่าเป็นลบ แปลว่า EMA(12) มีค่าน้อยกว่า EMA(26) ถ้าดูจากกราฟจะเห็นได้ว่าเส้น EMA(12) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะสั้น จะอยู่เหนือใต้ EMA(26) ซึ่งเป็นเส้น EMA ระยะยาว
3) ณ จุดที่ค่า MACD = 0 เป็นจุดตัดกันของเส้น EMA(12) และ EMA(26)
MACD “บวกมากขึ้น หรือ บวกน้อยลง” “ลบมากขึ้น หรือ ลบน้อยลง”
4) ถ้า MACD มีเป็นค่าบวกและยิ่งมีค่าเป็นบวกมากขึ้น แสดงว่า เส้น EMA(12) อยู่เหนือเส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน ทำให้ความห่างระหว่าง EMA ทั้ง 2 เส้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าเส้น EMA(26) ทำให้เราเห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาขึ้นในขณะที่มีค่าเป็นบวก (อยู่เหนือ Center Line)
5) แต่ถ้า MACD มีค่าเป็นลบและยิ่งเป็นค่าเป็นลบมากขึ้น แสดงว่าเส้น EMA(12) อยู่ใต้เส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่แยกออกจากกัน ทำให้ความห่างระหว่าง EMA ทั้ง 2 เส้นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวลดลงเร็วกว่าเส้น EMA(26) ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาลงในขณะที่มีค่าเป็นลบ (อยู่ใต้เส้น Center Line)
6) ถ้า MACD มีเป็นค่าบวกแต่มีค่าเป็นบวกลดลง แสดงว่า เส้น EMA(12) ยังอยู่เหนือเส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน ทำให้ความห่างระหว่างเส้น EMA 2 เส้นลดน้อยลง เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวสูงขึ้นช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเป็นช่วงที่เส้น EMA(12) เริ่มจะปรับตัวลดลง แต่เส้น EMA(26) ปรับตัวลดลงในจังหวะที่ช้ากว่า ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาลงในขณะที่มีค่าเป็นบวก (อยู่เหนือเส้น Center Line)
7) แต่ถ้า MACD มีค่าเป็นลบแต่มีค่าเป็นลบน้อยลง แสดงว่าเส้น EMA(12) ยังอยู่ใต้เส้น EMA(26) และเส้น EMA(12) กับเส้น EMA(26) เคลื่อนที่ลู่เข้าหากัน ทำให้ความห่างระหว่างเส้น EMA 2 เส้นลดน้อยลง เนื่องจากเส้น EMA(12) ปรับตัวลดลงช้ากว่าเส้น EMA(26) หรือเส้นเป็นช่วงที่เส้น EMA(12) เริ่มจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เส้น EMA(26) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในจังหวะที่ช้ากว่า ทำให้เห็นว่าเส้น MACD เป็นเส้นที่มีแนวโน้มของทิศทางเป็นขาขึ้นในขณะที่มีค่าเป็นลบ (อยู่เส้น Center Line)
SIGNAL LINE คือ MOVING AVERAGE ของ MACD
จากที่ได้เกริ่นนำมาก่อนหน้านี้ว่า Signal Line เป็น Indicator ของ MACD ซึ่ง Signal Line จะคือเส้นค่าเฉลี่ยแบบ Exponential (EMA) ของ MACD โดยค่าตั้งต้นมาตรฐานของ Signal Line จะคำนวณ EMA ย้อนหลังเป็นเวลา 9 ช่วงเวลาและแบบต่อเนื่อง (EMA(9)) และวาด Signal Line เป็นกราฟเส้นควบคู่ไปกับกราฟเส้นของ MACD บนพื้นที่เดียวกัน
การวิเคราะห์ Signal Line จะใช้หลักการหรือวิธีการเดียวกันกับที่เราใช้ EMA วิเคราะห์กราฟของราคาหุ้น แต่ต้องใช้จินตนาการเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อยว่าตอนนี้เรากำลังวิเคราะห์ MACD กับ EMA ของ MACD เพื่ออยากรู้ว่า ทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD เป็นอย่างไร
Signal Line = EMA(9) ของ MACD
Signal Line คือ เส้น Exponential Moving Average ของ MACD
วัตถุประสงค์ในการวาดเส้น Signal Line ควบคู่กับกราฟเส้น MACD เพื่อต้องการระบุว่าเส้น MACD มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นหรือขาลง โดยใช้หลักการของการวิเคราะห์ เส้นค่าเฉลี่ยเคลือนที่ (Moving Average) คือ ถ้าเส้น MACD อยู่เหนือเส้น Signal Line ซึ่งเป็น EMA ของตัวมันเอง ก็จะสรุปว่าเส้น MACD น่าจะมีโอกาสสูงที่จะกำลังอยู่ในช่วงทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่ถ้าเส้น MACD อยู่ใต้เส้น Signal Line ซึ่งเป็น EMA ของตัวมันเอง ก็จะสรุปว่าเส้น MACD น่าจะมีโอกาสสูงที่จะกำลังอยู่ในช่วงทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง ซึ่งเนื้อหาก่อนหน้านี้ได้ให้ตัวอย่างว่าการที่เส้น MACD มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นจะแปลความหมายได้อย่างไร และการที่เส้น MACD มีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลงจะแปลความหมายได้อย่างไร
Signal Line เป็น Indicator ที่ให้ข้อมูเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD
ส่วนทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum ของราคาหุ้น
การที่เราอยากรู้ว่าเส้น MACD มีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้นหรือขาลง เนื่องจากทิศทางแนวโน้มของเส้น MACD จะบอกถึง Momentum ว่าเป็นอย่างไร เช่น
1) กรณีที่เส้น MACD มีค่าบวก (+) หรืออยู่เหนือ Center Line และมีทิศทางเป็นขาขึ้น แปลว่า Momentum ทิศทางขาขึ้นเพิ่มมากขึ้น
2) กรณีที่เส้น MACD มีค่าบวก (+) หรืออยู่เหนือ Center Line แต่มีทิศทางเป็นขาลง แปลว่า Momentum ทิศทางขาขึ้นมีการปรับตัวลดลง
3) กรณีที่เส้น MACD มีค่าลบ (-) หรืออยู่ใต้ Center Line และมีทิศทางเป็นขาลงแปลว่า Momentum ทิศทางขาลงมีเพิ่มมากขึ้น
4) กรณีที่เส้น MACD มีค่าลบ (-) หรืออยู่ใต้ Center Line และมีทิศทางเป็นขาขึ้นแปลว่า Momentum ทิศทางขาลงเริ่มลดลงม
จะเห็นได้ว่ากรณีที่ 1 และกรณีที่ 4 ทิศทางขาขึ้นของ MACD ให้มุมมองในเชิงบวกต่อราคาหุ้น แต่สำหรับกรณีที่ 2 และกรณีที่ 3 ทิศทางขาลงของ MACD ให้มุมมองในเชิงลบต่อราคาหุ้น
สรุป
MACD ซึ่งเป็น Indicator ที่บอกทั้งแนวโน้มของกราฟราคาหุ้น และ Momentum โดยมีวิธีการคำนวณค่า MACD จากส่วนต่างของ EMA(12) และ EMA(26) และแสดงค่าจะแสดงเป็นกราฟเส้นบนพื้นที่ใหม่ที่ไม่ใช่พื้นที่เดียวกันกับกราฟราคาหุ้น
ค่าของ MACD จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของแนวโน้มกราฟราคาหุ้น โดยที่ MACD ในช่วงที่มีค่าเป็นบวก (+) จะแปลความหมายได้ว่ากราฟราคาน่าจะกำลังอยู่ในมีทิศทางของแนวโน้มเป็นขาขึ้น ส่วนในช่วงที่ MACD มีค่าเป็นลบ (-) จะแปลความหมายได้ว่ากราฟราคาหุ้นน่าจะกำลังอยู่ในทิศทางของแนวโน้มเป็นขาลง
ทิศทางของเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาขึ้น จะให้ข้อมูลในเชิงบวกกับราคาหุ้น กรณีที่ MACD มีค่าเป็นบวกและเส้น MACD มีทิศทางขาขึ้นจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพิ่มมากขึ้น กรณีที่ MACD มีค่าเป็นลบ และเส้น MACD มีทิศทางเป็นขาขึ้นจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาลงเริ่มอ่อนแรง
ทิศทางของเส้น MACD ที่เป็นทิศทางขาลง จะให้ข้อมูลในเชิงลบกับราคาหุ้น กรณีที่ MACD มีค่าเป็นบวกแต่เส้น MACD มีทิศทางเป็นขาลงจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเริ่มอ่อนแรง และกรณีที่ MACD มีค่าเป็นลบ และเส้น MACD มีทิศทางเป็นขาลงจะแปลความหมายได้ว่า Momentum ในทิศทางขาลงเพิ่มมากขึ้น
MACD เป็น Indicator ในการวัด Momentum ของราคาหุ้น หรือใช้เพื่อวิเคราะห์และติดตามการว่าราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่สำหรับ Signal Line และ MACD Historical จะเป็น Indicators ที่ใช้ในการวิเคราะห์และติดตามการเปลี่ยนแปลงของเส้น MACD เพื่อดูว่า Momentum มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดย Signal Line จะเป็น Indicator ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางของแนวโน้มเส้น MACD และ MACD Histogram เป็น Indicator ที่ให้ข้อมูลว่า MACD เริ่มมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือไม่ ด้วยการวัดระยะห่างระหว่างเส้น MACD กับเส้น Signal Line
การวิเคราะห์ MACD เราสนใจสัญญาณ 3 อย่าง ได้แก่ สัญญาณจากเหตุการณ์ที่ MACD ตัด Center Line ที่เป็นการบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาหุ้นในแนวโน้มระยะกลาง สำหรับสัญญาณจากกรณีที่เส้น MACD ตัดเส้น Signal Line จะให้ข้อมูลถึงการเปลี่ยนแปลง Momentum ซึ่งน่าจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางราคาในระยะสั้น และสัญญาณ Divergence ที่ให้ข้อมูลว่าทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกัน
การลงมือซื้อขายหุ้นด้วยการวิเคราะห์ทางเทคนิคเราจะยกให้กราฟราคาหุ้นเป็นพระเอกเสมอ โดยการตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นต้องตัดสินใจจากกราฟราคาหุ้นเท่านั้น และขอให้ MACD หรือ Indicators เป็นแค่พระรองช่วยส่งสัญญาเตือนหรือสนับสนุนการตัดสินใจซื้อขายเท่านั้น
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=BRs-5y-kLtc&list=PLxcFCY6f8RaNOWE7xHYzUxiy3PUye6tTE&index=8